สิทธิเบื้องต้นของแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง

กรณีที่หากบริษัทที่ทำงานต้องการเลิกจ้างลูกจ้าง พนักงาน ตามพรบ. คุ้มครองแรงงาน มีมาตรการให้การช่วยเหลือลูกจ้างกรณีถูกเลิกจ้างดังนี้
มาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง
1.ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
2.ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน

3.ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน

4. ทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน

5.ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน

6.ทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน

หลักตามมาตรานี้ ไม่ได้บังคับสำหรับลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาจ้างเอาไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดเวลานั้น และงานนั้นต้องเสร็จในเวลาไม่เกิน 2 ปี และหากลูกจ้างลาออกเอง หรือกระทำผิดความต่อนายจ้างอย่างร้ายแรง ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยนี้
อีกส่วนหนึ่งที่เรียกร้องได้ คือ กรณีที่นายจ้างมิได้บอกกล่าวการเลิกจ้างล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างกะทันหันทันที ที่เราๆ เรียกกันว่าค่าตกใจนั้น นายจ้างต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร 1 งวดงาน เช่น ถ้าได้รับเงินรายเดือน 30 วัน ก็ต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน มิฉะนั้นนายจ้างต้องเสียเงินค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วัน
โดยเงินจำนวนทั้งหมดดังกล่าว ควรได้รับในวันที่มาทำงานเป็นวันสุดท้าย