สิทธิของลูกจ้าง อันเกิดจากการปิดกิจการชั่วคราว
พรบ. คุ้มครองแรงงาน มาตรา 75 บัญญัติ ไว้ว่า กรณีนายจ้างมีความจำเป็นโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้าง จนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัยต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนหยุดกิจการ ตลอดระยะเวลาที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนเริ่มวันหยุดกิจการตามวรรคหนึ่งไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน
ว่าง่ายๆคือ นายจ้างต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างใน 75% ของค่าจ้างปกติครับ ทั้งนี้เงินจำนวนดังกล่าวเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามมาตรานี้ ไม่ใช่ค่าจ้าง แต่เป็นเงินที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายกรณีปิดกิจการชั่วคราวครับ โดยเงื่อนไขตามมาตรานี้สามารถแยกออกมาได้ คือ
1. นายจ้างจำเป็นต้องปิดกิจการชั่วคราว คำว่าจำเป็นนั้น ต้องเป็นความจำเป็นอันถึงขนาดที่มีผลต่อการประกอบกิจการของนายจ้าง จนนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ มิใช่เหตุจำเป็นเล็กๆน้อยๆ เช่น ถูกยกเลิกสินค้าจำนวนมาก และอาจมีผลถึงความมั่นคงของบริษัท เป็นต้น
2. เกิดจากเหตุหนึ่งเหตุใดที่มิใช่เหตุสุดวิสัย คำว่าสุดวิสัย ตาม ปพพ. มาตรา 8 หมายถึง เหตุใดๆที่เกิดขึ้น เป็นผลให้เกิดความพิบัติ เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ว่าบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้นแล้ว
กรณีที่มิใช่เหตุสุดวิสัย เช่น การบริหารงานผิดพลาดของบริษัท ทำให้กิจกรรมประสบปัญหา นายจ้างประมาทเลินเล่อทำให้เกิดเพลิงไหม้โรงงานเป็นต้น
กรณีสถานการณ์ปัจจุบัน หากนายจ้างถูกภาครัฐสั่งปิดกิจการ เป็นเหตุสุดวิสัยไม่ต้องจ่ายเงิน ตามหลัก ไม่มีงาน ไม่จ่ายเงิน